ประวัติครูบาแก้ว (ครูบาชัยยะเสนา) พระปฐมาจารย์วัดน้ำจำ
หลวงปู่ครูบาแก้ว ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีสัน (วอก) จศ.๑๒๓๔ ตรงกับพ.ศ. ๒๔๑๔ ณ.บ้านน้ำจำ ต.ร้องวัวแดง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๑๑ คน ของพ่อหนานนันตา แม่แสงปิน สกุล ปินตาปิน อายุเพียง ๘ ขวบบิดาได้นำไปเป็นศิษย์เรียนหนังสือล้านนา สวดมนต์ กับครูบาคุณะ วัดน้ำจำ หัดสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ฝึกหัดเรียนเขียนอ่านตัวเมืองล้านนาตามสมัยนิยม พออายุได้ ๑๐ ขวบก้ได้บรรพชาเป็นสามเณร ลุถึงเมื่ออายุได้ ๒๑ ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ เดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๔๒๔ โดยมี ครูบาพระศรีวิไชย วัดป่าเป้า เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ.พัทสีมาวัดดอนมูล ต.สันทรายมูล สันกำแพง มี พระทาริยะ วัดร้องวัวแดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพรหม วัดม่วงเขียว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดน้ำจำ จากนั้นไปศึกษาวิชาที่สำนักของพระครูรัตนปัญญาญาณ เจ้าคณะแขวงดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นแหล่งธรรมศึกษาที่มีชื่อเสียง อยู่ศึกษาที่สำนักนี้ ๗ พรรษาด้วยกัน จากนั้นจึงต้องกลับมาจำพรรษาที่วัดน้ำจำ ตามนิมนต์ของชาวบ้านเพราะเจ้าอาวาสครูบาคุณะออกธุดงค์และไม่กลับมา ท่านทำหน้าที่ดูแลวัดน้ำจำแป็นเวลา ๔ พรรษา ครั้นเมื่ออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านครุบาหลวงวัดฝายหิน พระราชครูนครเชียงใหม่ พระอภัยสารทะสังฆปาโมก เจ้าคณะนครเชียงใหม่ได้เรียกท่านครูบาแก้วเข้าพบเพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้า อาวาสต่อไป จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (ตำบล) ห้วยทราย และตำบลร้องวัวแดง และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระภิกษุสามเณร ทั้งหลาย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ด้วยเวลาที่อยู่ในร่มกาสาวพัตร์เป็นเวลาอันยาวนานและมีลูกศิษย์มากมาย อีกทั้งท่านเป็นพระอาจารย์ที่ทรงภูมิ ได้ศีกษาวิชามามากมาย เป็นที่เคารพและศรัทธาแก่คนทั้งหลายมาเป็นเวลานาน
จนเวลาล่วงถึงวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ครูบาแก้ว ชยเสโน ท่านก็ละสังขารไปโดยสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๔ ปี พรรษา ๗๔ ศิษยานุศิษย์ได้จัดการทำบุญฌาปนกิจศพของท่าน เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๙
บารมีครูบาชัยยะเสนา วัดน้ำจำ สันกำแพง เชียงใหม่
ท่านครูบาวัดน้ำจำ ท่านนี้เป็นพระปรมาจารย์แห่งล้านนาในอดีตอย่างแท้จริง เป็นผู้ที่มีอาคมแข็งกล้า มีอำนาจจิตบารมีสูง เชี่ยวชาญศาสตร์วิชาหลายแขนง เชี่ยวชาญวิปัสสนาธุระเป้ยอย่างยิ่ง เป็นที่เคารพแก่คนทั้งหลาย แม้กระทั่งครูบาเจ้าศรีวิชัยยังสรรเสริญในความรู้ และปฏิปทาในวัตรปฏิบัติของท่าน
ครูบาแก้วท่านเป็นพระที่มักน้อย สันโดษ สงบ และเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ในเชียงใหม่เมื่อกาลนั้น ลูกศิษย์ลูกหามากมายที่มาเรียนวิชาจากท่าน ท่านมีมากจนต้องศึกษากันหลายๆปี จึงจะสำเร็จ ในบรรดาลูกศิษย์ที่เราๆรู้จักกันดีในสมัยต่อมาก็คือ หลวงปู่ครูบาคำแสน คุณาลงฺกาโร วัดป่าดอนมูล นั่นเอง ซึ่งหลวงปุ่ครูบาแก้วท่านเป็นพระจตุกรรมวาจาจารย์แก่หลวงปู่คำแสน ตอนที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ลำพังหลวงปู่คำแสนเองต้องไปเรียนวิชาต่างๆ กับครุบาแก้วหลายปีด้วยกันหลังจากที่อุปสมบทแล้ว
วัตถุมงคลครูบาแก้ว วัดน้ำจำ
สำหรับวัตถุมงคลของครูบาแก้วท่านนั้นมีไม่มากมายนัก ส่วนมากท่านไม่มีเจตนาที่จะสร้างด้วยเจตนาของท่านเอง นอกจากบางครั้งที่ชาวบ้านมาขอบารมีท่านสร้าง แต่มีจำนวนน้อยมาก วัตถุมงคลยุคนั้นได้แก่ ผ้ายันต์ ผ้ายันต์นกคุ่มเขียนมือ เสื้อยันต์ พระเนื้อตะกั่วผสมฟันของท่าน และพระผงพิมพ์รูปเหมือน 108 พิมพ์หลังอึ่งผสมผงใบลาน ซึ่งวัตถุมงคลแต่ละรุ่นล้วนเป็นที่เสาะแสวงหาของคนทั้งหลาย โดยเฉพาะวัตถุมงคลยุคแรกๆ นั้นหายากยิ่ง
นอกจากนั้นก็มีพระผงรูปเหมือนเนื้อผงใบลานผสมเส้นเกศา ผงพลอย และเถ้าอัฐิของครูบาท่าน จากนั้นก้มีเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พระรอด และพระผงรุ่นหลังที่ทางวัดสร้างขึ้น ซึ่งแต่ละรุ่นก็ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อในบารมี และศรัทธาในตัวครูบาแก้วท่าน ซึ่งก็สร้างกันขึ้นมาตามธรรมเนียม รักและศรัทธาท่านก็สร้างรูปท่านไว้บูชาเหมือนดังพระผงผสมเกศาของครูบาเจ้า ศรีวิชัย ซึ่งในปัจจุบันกาลบางวัดก็ยังมีดำริสร้างกันอยู่ และก็ได้รับความนิยมตามสมควร